เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๑๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จประพาสถ้ำแห่งนี้
และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “ถ้ำพญานาค” ตามรูปร่างหินก้อนหนึ่งที่คล้ายเศียรพญานาค
อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านที่มาเก็บรังนกนางแอ่นบนเกาะแห่งนี้
ภายในถ้ำเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ สูงประมาณ ๘๐ เมตร มีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม
จึงเป็นที่อาศัยของนกนางแอ่น
ทางทิศตะวันออกและทิศใต้พบภาพเขียนสีสมัยประวัติศาสตร์ประมาณ ๗๐ ภาพ
เป็นรูปช้างและรูปเรือชนิดต่างๆ เช่น เรือใบยุโรป เรือใบอาหรับ เรือสำเภา
เรือกำปั่น เรือใบใช้กังหัน และเรือกลไฟ เป็นต้น เนื่องจากภาพส่วนใหญ่เป็นภาพเรือ
จึงมีคนคิดว่าเป็นเรือของพวกไวกิ้ง นักรบและนักเดินเรือชาวยุโรป เลยตั้งชื่อว่า “ถ้ำไวกิ้ง” สันนิษฐานว่าภาพเขียนเหล่านี้เป็นฝีมือของนักเดินเรือหรือพวกโจรสลัด
เพราะจากการศึกษาเส้นทางเดินเรือจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออก บริเวณนี้อาจเป็นจุดที่เรือสามารถแวะพักหลบลมมรสุมขนถ่ายสินค้าหรือซ่อมแซมเรือได้