ประวัติความเป็นมา

                      จังหวัดกระบี่ ตั้งขึ้นในปลายรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ในอดีต เป็นเพียงแขวงหนึ่ง อยู่ในอำนาจการปกครอง และบังคับบัญชา ของเมืองนครศรีธรรมราช เรียกว่า "แขวงเมืองปกาสัย" พระยาผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ให้ปลัดมาตั้งค่ายทำพะเนียดจับช้าง ของท้องที่ตำบลปกาสัย และได้มีราษฏร จากเมืองนครศรีธรรมราช อพยพมาตั้งหลักแหล่ง ทำมาหากิน เพิ่มมากขึ้น พระปลัดได้ยกตำบลปกาสัย ขึ้นเป็น "แขวงเมืองปกาสัย" ขึ้นต่อเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณปี พ.ศ.2415 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองปกาสัย และทรงพระราชทานนามว่า "เมืองกระบี่" เมื่อได้ประกาศตั้งขึ้นเป็นเมืองแล้ว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งที่ทำการ อยู่ที่ตำบลกระบี่ใหญ่ (บ้านตลาดเก่า) ในท้องที่อำเภอเมืองกระบี่ ปัจจุบัน มีหลวงเทพเสนา เป็นเจ้าเมืองกระบี่ คนแรก ต่อมาในปี พ.ศ.2418 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองกระบี่ ออกจากการปกครอง ของเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และในปี 2443 สมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ได้พิจารณาเห็นว่า ศาลากลางจังหวัด ที่บ้านตลาดเก่านั้น ไม่สะดวกต่อการคมนาคม เพราะสมัยนั้น ต้องอาศัยเรือเป็นพาหนะ จึงได้ย้ายที่ตั้งเมือง ไปอยู่ตำบลปากน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้ปากอ่าว เป็นร่องน้ำลึก เรือใหญ่สามารถเข้าเทียบท่า ได้สะดวก ทำให้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัด จนถึงปัจจุบันนี้ ความหมายของคำว่า " กระบี่" มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวบ้านได้ขุดพบมีดดาบโบราณใหญ่เล่มหนึ่ง นำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ และต่อมาไม่นาน ก็ขุดพบมีดดาบโบราณเล็ก อีกเล่มหนึ่ง รูปร่างคล้ายกับมีดดาบโบราณเล่มใหญ่ จึงนำมามอบให้กับเจ้าเมืองกระบี่ เช่นกัน เจ้าเมืองกระบี่ เห็นว่า เป็นดาบโบราณ สมควรเก็บไว้เป็นดาบคู่บ้านคู่เมือง เพื่อเป็นศิริมงคล แต่ขณะนั้น ยังสร้างเมืองไม่เสร็จ จึงได้นำดาบ ไปเก็บไว้ในถ้ำ เขาขนาบน้ำ หน้าเมือง โดยวางไขว้กัน ซี่งลักษณะการวาง ทำให้เป็นสัญลักษณ์ ของตราประจำเมือง คือ ดาบไข้วทาบอยู่บนภูเขาขนาบน้ำ และบ้านที่ขุดพบดาบใหญ่ ได้ตั้งชื่อว่า "บ้านกระบี่ใหญ่" บ้านที่ขุดพบดาบเล็ก ได้ตั้งชื่อ "บ้านกระบี่น้อย" แต่มีอีกตำนานหนึ่ง สันนิษฐานว่า คำว่า "กระบี่" อาจเรียกชื่อ ตามพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่ง ที่มีมากในท้องถิ่น คือต้น "หลุมพี" เรียกชื่อว่า "บ้านหลุมพี" มีชาวมลายู และชาวจีนที่เข้ามาค้าขาย ได้เรียกเพี้ยนเป็น "กะ-ลู-บี" หรือ "คอโลบี" ต่อมาได้ปรับเป็นสำเนียงไทยว่า"กระบี่"